โรงแรม ภาคกลาง |
โรงแรม ภาคตะวันออก |
โรงแรม ภาคเหนือ |
โรงแรม ภาคใต้ |
|
ทัวร์ต่างประเทศ |
|
ข่าวสาร ท่องเที่ยว แผนที่ |
|
........
........
........
........
........
|
|
ตลาดน้ำอัมพวา ตลาดน้ำท่าคา อุทยาน ร.๒ | อำเภออัมพวามีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยก่อนเรียกกันว่า แขวงบางช้าง เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่มีความเจริญทั้งในด้านการเกษตรและการพาณิชย์ มีหลักฐานเชื่อได้ว่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้น แขวงบางช้างมีตลาดค้าขายเรียกว่า ตลาดบางช้าง นายตลาดเป็นหญิงชื่อน้อย มีบรรดาศักดิ์เป็นท้าวแก้วผลึก นายตลาดผู้นี้อยู่ในตระกูลเศรษฐีบางช้าง ซึ่งต่อมาเป็นราชินิกุล ณ บางช้าง | พ.ศ. ๒๓๐๓ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์โปรดเกล้าฯ ให้นายทองด้วง (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีซึ่งเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ภายหลังหลวงยกกระบัตรได้แต่งงานกับคุณนาค บุตรีเศรษฐีบางช้าง และย้ายบ้านไปอยู่หลังวัดจุฬามณี ต่อมาเมื่อไฟไหม้บ้านจึงได้ย้ายไปอยู่ที่หลังวัดอัมพวันเจติยาราม อีก ๓ ปี ปีพ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตก หลวงยกกระบัตรจึงตัดสินใจอพยพครอบครัวเข้าไปอยู่ในป่าลึก ในระหว่างนี้ ท่านแก้ว (สมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์) พี่สาวของหลวงยกกระบัตร ได้คลอดบุตรหญิงคนหนึ่งตั้งชื่อว่า บุญรอด (ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์บรมราชินี ในรัชกาลที่ ๒)
ในช่วงสมัยกรุงธนบุรี พระยาวชิรปราการได้รวบรวมกำลังขับไล่พม่าออกไปหมดและสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าตากสิน หลวงยกกระบัตรได้อพยพครอบครัวกลับภูมิลำเนาเดิมในช่วงนี้เองคุณนาคภรรยาก็ได้คลอดบุตรคนที่ ๔ เป็นชายชื่อ ฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) หลังจากนั้นหลวงยกกระบัตรก็ได้กลับเข้ารับราชการอยู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา และได้ดำรงตำแหน่งจนเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต้นราชวงศ์จักรีเริ่มเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คุณนาคภรรยาจึงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ คุณสั้นมารดาคุณนาค ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารี
แต่เนื่องจากสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงเป็นคนพื้นบ้านบางช้างมาก่อน จึงมีพระประยูรญาติต่างๆที่สนิทประกอบอาชีพทำสวนอยู่ที่บางช้าง เมื่อได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอมรินทรามาตย์จึงนับเป็นราชินิกุล บางช้าง พระประยูรญาติจึงเกี่ยวดองเป็นวงศ์บางช้างด้วย และสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ มักทรงเสด็จเยี่ยมพระประยูรญาติเสมอ จึงมีคำกล่าวเรียกว่า สวนนอก หมายถึง สวนบ้านนอก ที่เป็นของวงศ์ราชินิกุลบางช้าง ส่วนบางกอก ซึ่งเป็นส่วนของเจ้านายในราชวงศ์ก็เรียกว่า สวนใน มีคำกล่าวว่า บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน จนถึงใน สมัยรัชกาลที่ ๔ จึงยกเลิกไป อำเภออัมพวาจึงเป็นเมืองที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยมายาวนาน
ตลาดน้ำท่าคา ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าคา เป็นตลาดนัดทางน้ำที่ยังคงความเป็นธรรมชาติของวิถีชีวิตชาวบ้านซึ่งมีอาชีพทำสวนปลูกพืชชนิดต่างๆ ชาวบ้านจะพายเรือนำผลผลิต พืชผักและผลไม้จากสวน เช่น พริก หอม กระเทียม น้ำตาลมะพร้าว ฝรั่ง มะพร้าว ชมพู่ ส้มโอมาขาย แลกเปลี่ยนกัน เฉพาะในวันขึ้นหรือแรม ๒ ค่ำ ๗ ค่ำ ๑๒ ค่ำ (ทุกๆ ๕ วัน) ปัจจุบันได้เพิ่มวันนัดเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย ตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๖.๐๐๑๑.๓๐ น. นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อเช่าเรือพายเที่ยวชมหมู่บ้านและเรือกสวนผลไม้ในบริเวณนั้นได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวันเวลานัดได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าคา โทร. ๐ ๓๔๗๖ ๖๒๐๘
การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ (สมุทรสงคราม-บางแพ) กิโลเมตรที่ ๓๒ (เลยทางแยกเข้าวัดเกาะแก้วไปเล็กน้อย) มีทางแยกขวาไปอีก ๕ กิโลเมตร หรือเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางขึ้นรถได้ที่ตลาดตัวเมือง หน้าธนาคารทหารไทย สายท่าคา-วัดเทพประสิทธิ์ ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐๑๘.๐๐น. รถออกทุก ๒๐ นาที
วัดจุฬามณี ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ (สมุทรสงคราม-บางแพ) กิโลเมตร ๓๔ ๓๕ ตำบลบางช้าง เป็นวัดโบราณริมฝั่งคลองอัมพวาต่อเนื่องกับคลองผีหลอก วัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สันนิษฐานว่า ท้าวแก้วผลึก(น้อย) นายตลาดบางช้าง ต้นวงศ์ราชินิกุลบางช้างเป็นผู้สร้างขึ้น บริเวณหลังวัดเดิมเป็นนิวาสสถานของคุณนาค (สมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑ ) และคุณบุญรอด (สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒)
วัดบางกะพ้อม ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ ๓๗ ๓๘ ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ (สมุทรสงคราม-บางแพ) เป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สิ่งที่น่าสนใจอยู่ภายในวิหารเก่าของวัด ผนังวิหารด้านบนเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังลักษณะแตกต่างจากทั่วไป คือ เป็นปูนปั้นลวดลายนูนแสดงเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ ผนังวิหารด้านล่างโดยรอบมีช่องเจาะเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป นอกจากนี้กลางวิหารยังประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองขนาดใหญ่ซ้อนกันสี่รอยลดหลั่นกันไป สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงธนบุรี เดิมมีแผ่นเงินหุ้มแต่ถูกขโมยไปเมื่อครั้งสงคราม พระพุทธบาทรอยที่ซ้อนลึกที่สุดนั้นเป็นไม้ประดับมุกยังคงหลงเหลือลวดลายงดงาม บริเวณลานวัดจะเห็นร้านกาแฟเล็กๆจำหน่ายชา กาแฟรสชาติหอมอร่อยแบบดั้งเดิม
วัดอัมพวันเจติยาราม อยู่ติดกับอุทยาน ร. ๒ เป็นวัดของตระกูลราชินิกุลบางช้าง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ หลังวัดแห่งนี้เคยเป็นนิวาสสถานเก่าของหลวงยกกระบัตร (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) และ คุณนาค (สมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑ ) และเป็นสถานที่พระราชสมภพของรัชกาลที่ ๒ เชื่อกันว่าบริเวณพระปรางค์ของวัดอัมพวันเจติยาราม เดิมเป็นเรือนที่คุณนาคใช้เป็นที่คลอดคุณฉิมบุตรชาย ซึ่งต่อมาได้เป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
วัดอัมพวันเจติยารามได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ ปัจจุบันวัดอัมพวันเจติยารามเป็นพระอารามหลวงชั้นโท พระอุโบสถตลอดจนถาวรวัตถุในวัดนี้ ส่วนใหญ่เป็นศิลปะและสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งนับเป็นพระอุโบสถที่มีความงดงาม นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประดิษฐาน
การเดินทาง
รถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๕ (สายธนบุรี-ปากท่อ) ถึงกิโลเมตรที่ ๖๓ เข้าตัวเมืองสมุทรสงครามและออกไปประมาณ ๖ กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ (สมุทรสงคราม-บางแพ) กิโลเมตรที่ ๓๖-๓๗ มีทางแยกซ้าย เข้าไปอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร
รถโดยสายประจำทาง ขึ้นรถได้ที่ตลาดเทศบาลอำเภอเมือง สายแม่กลอง-บางนกแขวกราชบุรี ลงหน้าวัดอัมพวันเจติยาราม
อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.๒) เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ของ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานศิลปวัฒนธรรมอันงดงามไว้เป็นมรดกแก่ชาติ จนได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) บริเวณที่ก่อสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์นี้ พระราชสมุทรเมธี เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยารามเป็นผู้น้อมเกล้าฯถวาย มีพื้นที่ประมาณ ๑๑ ไร่ พื้นที่บริเวณนี้มีความสำคัญเพราะเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒)
ภายในอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ มีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย ๔ หลัง แบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ เช่น หอกลาง ภายในประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ ๒ และจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เช่น เครื่องเบญจรงค์ เครื่องถ้วย หัวโขน ห้องชาย จัดแสดงให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของชายไทยที่มีความกล้าหาญ มีพระพุทธรูปสำหรับบูชา รวมทั้งแท่นพระบรรทมซึ่งเชื่อว่าเป็นของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ห้องหญิง แสดงให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของหญิงไทยโบราณ โต๊ะเครื่องแป้ง คันฉ่อง ชานเรือน จัดแสดงตามแบบบ้านไทยโบราณ ตกแต่งด้วยกระถางไม้ดัด ไม้ประดับ ห้องครัวและห้องน้ำ จัดแสดงลักษณะครัวไทยมีเครื่องหุงต้ม ถ้วยชามและห้องน้ำของชนชั้นกลาง
นอกจากนี้ยังมีโรงละครกลางแจ้งและสวนพฤกษชาติเป็นสวนพันธุ์ไม้ในวรรณคดีนานาชนิดและมีร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง จำหน่ายพันธุ์ไม้ อุทยาน ร.๒ เป็นสถานที่ๆมีความร่มรื่น เหมาะสำหรับเข้าไปเยี่ยมชมบรรยากาศแบบไทยที่ยังคงอนุรักษ์เอาไว้ อุทยานฯเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐-๑๘.๐๐ น. อัตราค่าเข้าชม เด็ก ๕ บาท ผู้ใหญ่ ๒๐ บาท ส่วนพิพิธภัณฑ์เปิดเวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. ๐ ๓๔๗๕ ๑๖๖๖
การเดินทาง
รถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๕ (สายธนบุรี-ปากท่อ) ถึงกิโลเมตรที่ ๖๓ เข้าตัวเมืองสมุทรสงคราม ผ่านตัวเมือง จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ (สมุทรสงคราม-บางแพ) กิโลเมตรที่ ๓๖-๓๗ มีทางแยกซ้ายไปอุทยานฯ เข้าไปอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร
รถโดยสายประจำทาง ขึ้นรถได้ที่ตลาดเทศบาลอำเภอเมือง สายแม่กลอง-บางนกแขวกราชบุรี ลงหน้าอุทยาน ร.๒
ศิลปะการทำซออู้ บ้านพญาซอ ซอเป็นเครื่องดนตรีไทยพื้นบ้านภาคกลาง บ้านพญาซอเป็นบ้านช่างซออู้ ที่นำศิลปะการเล่นดนตรีไทยมาผนวกกับการแกะสลักซอเป็นลวดลายที่งดงาม โดยการนำผลมะพร้าวที่ใช้ทำซอซึ่งมีลักษณะพิเศษมาแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายตัวละคร ลายพุดตาน ลายนามย่อ ลายนามปีนักษัตรเช่น ชวด ฉลู ปัจจุบันหาชมศิลปะการแกะสลักเช่นนี้ได้ยาก นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถชมศิลปะการแกะสลักซอและเรียนรู้การใช้ซอได้ที่ บ้านคุณสมพร เกตุแก้ว เลขที่ ๔๓ หมู่ ๕ ต.บางพรหม อ.บางคนที สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. ๐ ๓๔๗๖ ๑๙๔๙
การเดินทาง บ้านพญาซอ จากตัวเมืองสมุทรสงคราม ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ (สมุทรสงคราม-บางแพ) กิโลเมตรที่ ๓๖-๓๗ มีทางแยกซ้ายไปอุทยาน ร.๒ บ้านพญาซออยู่เลยอุทยาน ร.๒ ไปประมาณ ๓ กิโลเมตร
วัดภุมรินทร์กุฎีทอง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ตรงปากคลองประชาชื่นฝั่งตะวันตก ตำบลสวนหลวง สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดมีมากมาย ได้แก่ กุฎีทอง ทำด้วยไม้สัก ประวัติเล่าว่า เศรษฐีบิดาของคุณนาค (สมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑ ) ให้สมภารวัดบางลี่ตรวจดูดวงชะตาคุณนาค สมภารทำนายว่าจะได้เป็นพระราชินี เศรษฐีบิดาคุณนาคจึงให้ คำมั่นว่า ถ้าเป็นจริงจะสร้างกุฎีทองถวายให้วัด วัดบางลี่จึงได้ชื่อว่า วัดบางลี่กุฎีทอง ต่อมาวัดบางลี่ถูกน้ำเซาะที่ดินพังลง จึงรื้อกุฎีทองมาสร้างไว้ที่วัดภุมรินทร์ วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดภุมรินทร์กุฎีทอง นอกจากนี้ ยังมี พิพิธภัณฑ์วัดภุมรินทร์และอุทยานการศึกษา เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุล้ำค่าสมควรแก่การศึกษาและอนุรักษ์ ไว้ เช่น พระพุทธรูป หนังสือไทย โถลายคราม และ เครื่องทองเหลือง พระพุทธรูปเก่าแก่อายุกว่า ๓๐๐ ปี เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัยชื่อ พระพุทธรัตนมงคลหรือหลวงพ่อโต และ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประดิษฐาน สอบถามรายละเอียดได้ที่พระปลัดถาวรปิยธโร โทร. ๐ ๓๔๗๕ ๑๔๙๒
บ้านดนตรี ตั้งอยู่ในบริเวณวัดภุมรินทร์กุฎีทอง โดยใช้อาคารโรงเรียนเป็นที่ทำการสอนดนตรีไทย ด้วยสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงครามเล็งเห็นคุณค่าวัฒนธรรมของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์สืบทอดให้ลูกหลานชาวสมุทรสงครามได้ภาคภูมิใจ จึงได้รวบรวมนักดนตรีไทยรุ่นเก่าๆที่สมัครใจ ให้อบรมสั่งสอนเด็กรุ่นใหม่เพื่อสืบทอดความเป็นเมืองแห่งดนตรีไทยไว้สืบชั่วลูกหลาน เริ่มมาตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๒ เป็นต้นมา สอนทั้งในวันธรรมดาและวันเสาร์-อาทิตย์ โทร. ๐ ๓๔๗๕ ๑๕๐๐
วัดบางแคใหญ่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง บริเวณปากคลองบางแค ตำบลแควอ้อม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗ ภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่น่าสนใจ ได้แก่ พระอุโบสถหลังใหญ่อายุกว่า ๑๕๐ ปี ด้านหน้ามีเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสองศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา พระประธานในอุโบสถปางมารวิชัยปั้นด้วยศิลาแลง มีธรรมเจดีย์ ๗ องค์สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ และบนฝาประจัน (ฝากั้นห้อง) กุฏิสงฆ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาว เขียนในปลายสมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นเรื่องราวการทำสงครามไทย-พม่า ซึ่งน่าจะเป็นครั้งที่ ร.๒ โปรดให้ไปขัดตาทัพที่ราชบุรีเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๔ ซึ่งไม่ได้เปิดให้ชมทั่วไปต้องขออนุญาต
การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ (ถนนสมุทรสงคราม-บางแพ) เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานพระศรีสุริเยนทร์ เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๖๒ ประมาณ ๒ กิโลเมตร ผ่านวัดภุมรินทร์กุฎีทอง จะเห็นวัดบางแคใหญ่
บ้านแมวไทยโบราณ เป็นสถานที่อนุรักษ์พันธุ์แมวไทยโบราณ ตั้งอยู่เลขที่ ๒/๑ หมู่ ๗ ตำบลแควอ้อม บ้านแมวไทยโบราณเกิดจากการรวมตัวของเพื่อนที่นิยมเลี้ยงแมวไทย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์แมวไทยให้อยู่คู่กับประเทศไทยเป็นสมบัติของชาติตลอดไปและเพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องคุณสมบัติและลักษณะที่ถูกต้องของแมว สนับสนุนด้านการค้นคว้าวิจัย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นรวมทั้งเพิ่มพูนความรู้ระหว่างสมาชิก แลกเปลี่ยนเรื่องและประสบการณ์การวิจัย การผสมพันธุ์กับองค์กรการเลี้ยงแมวที่เกี่ยวข้อง คุณปรีชา พุคคะบุตร ผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นผู้ดูแลบ้านแมวไทยโบราณเล่าให้ฟังว่า เดิมคุณแม่เป็นผู้เลี้ยงแมวไทยสายพันธุ์วิเชียรมาศ สมัยนั้นผมยังเด็กไม่ค่อยได้สนใจ พอโตขึ้น ถูกใช้ให้คลุกข้าวเลี้ยงแมว ช่วงนั้นมีแมวอยู่ในบ้านไม่มากนัก เลี้ยงมาเรื่อยๆ แมววิเชียรมาศ ไม่เคยขาดบ้าน มีความผูกพันกับแมวมาตลอด ต่อมามีเพื่อนฝูงที่นิยมเลี้ยงแมวมากขึ้น ไปมาหาสู่พูดคุยกันว่าน่าจะอนุรักษ์ไว้ เพราะแมวไทยเป็นแมวที่ฉลาด ช่างประจบ รักบ้าน รักเจ้าของและสวยสง่า มองดูสะดุดตา แมวไทยมีหลายพันธุ์ทั้งพันธุ์สีสวาท ศุภลักษณ์ โกญจา ภายในบ้านแมวไทยมีเรือนเพาะเลี้ยงแมวไทย แบ่งเป็นกรงเลี้ยงแมวไทยประเภทต่างๆ บ้านแมวไทยโบราณ เป็นสถานที่น่าสนใจเหมาะแก่การศึกษาหาความรู้เรื่องแมวไทยพันธุ์แท้ๆ ผู้สนใจเยี่ยมชมสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. ๐ ๓๔๗๓ ๓๒๘๔
การเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ (ถนนสมุทรสงคราม-บางแพ) เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานพระศรีสุริเยนทร์ เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๖๒ ข้ามคลองประชาชมชื่น ผ่านวัดภุมรินทร์กุฎีทอง วัดบางแคใหญ่ จะเห็นป้ายบ้านแมวไทย
วัดบางแคน้อย ตั้งอยู่ที่ตำบลแควอ้อม ริมแม่น้ำแม่กลอง คุณหญิงจุ้ย(น้อย) วงศาโรจน์ เป็นผู้สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๔๑๑ เดิมอุโบสถของวัดสร้างบนแพไม้ไผ่ผูกไว้กับต้นโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ปัจจุบันวัดนี้ได้รับการบูรณะอย่างดี สิ่งที่น่าชมภายในวัด ได้แก่ ผนังภายในพระอุโบสถทำจากไม้สักแกะสลักเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ การประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และเรื่องพระเจ้าสิบชาติ ลวดลายสวยงามชัดเจนโดยฝีมือช่างแกะสลักจังหวัดเพชรบุรีซึ่งมีชื่อเสียงด้านการแกะสลักไม้ นับเป็นอุโบสถที่มีความงดงามในศิลปะการแกะสลักไม้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. ๐ ๓๔๗๖ ๑๒๒๒
วัดอินทาราม ตั้งอยู่ที่ตำบลเหมืองใหม่ เป็นวัดโบราณสร้างเมื่อพ.ศ.๒๓๐๐ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่มาปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ พระพุทธรูปหลวงพ่อโตอายุกว่า ๓๐๐ ปี พระอุโบสถสร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง บานหน้าต่างและบานประตูเป็นไม้สักแกะสลักสุภาษิตสอนใจ ท่าน้ำของวัดเป็นอุทยานปลาตะเพียน นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารปลาได้ ส่วนหนึ่งของวัดจัดเป็นศูนย์ฟื้นฟูสภาพจิตใจที่ใช้สมุนไพรควบคู่กับการปฏิบัติธรรมรักษาผู้ติดยาเสพติด มีโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์เรือโบราณในอนาคต โทร. ๐ ๓๔๗๖ ๑๘๘๘, ๐ ๓๔๗๓ ๕ ๓๑๕
การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ (ถนนสมุทรสงคราม-บางแพ) เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานพระศรีสุริเยนทร์ ลงสะพานแล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๖๒ เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๐๒ ผ่านโรงพยาบาลอัมพวา แล้วไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๐๗ หรือใช้รถประจำทางสาย ๘๑๓๑ สมุทรสงคราม-ท่าเรือ วัดแก้วเจริญ |
|