|
ข้อมูลท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ในกลุ่มนี้ |
|
ข้อมูลทั่วไป นครราชสีมา หรือที่เรียกว่า โคราช เปรียบเสมือนประตูสู่ภาคอีสาน อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๒๕๙ กิโลเมตร เป็นเมืองใหญ่บนดินแดนที่ราบสูง ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยว ผู้มาเยือนจะเพลิดเพลินกับกิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งเดินป่าศึกษาธรรมชาติ พักผ่อนหย่อนใจริมอ่างเก็บน้ำ ชื่นชมความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมขอมโบราณ และเรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้าน ทั้งยังได้อิ่มอร่อยกับอาหารอีสานต้นตำรับ ก่อนกลับยังได้ซื้อหาสินค้าเกษตรหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีให้เลือกอีกมากมาย
| ด่านขุนทด วัดบ้านไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลกุดพิมาน จากตัวเมืองเดินทางตามถนนมิตรภาพ ถึงกิโลเมตรที่ ๒๓๗ แยกขวาผ่านอำเภอขามทะเลสอและบ้านหนองสรวงไปจนถึงอำเภอด่านขุนทด ระยะทางประมาณ ๖๐ กิโลเมตร จากโรงพยาบาลด่านขุนทดใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒๑๗ เป็นระยะทางอีกประมาณ ๑๑ กิโลเมตร วัดบ้านไร่เป็นวัดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเป็นสถานที่จำพรรษาของหลวงพ่อคูณ ปริสทฺโธ เกจิอาจารย์ชื่อดัง ในแต่ละวันมีผู้คนจากทุกสารทิศเดินทางมานมัสการหลวงพ่อคูณกันเป็นจำนวนมาก
|
|
บัวใหญ่ ปรางค์กู่ ตั้งอยู่ในโรงเรียนวัดบ้านกู่ ตำบลดอนตะหนิน จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ไปประมาณ ๗๔ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตรงตู้ยามตำรวจทางหลวงบ้านโนนตาเถรไปอีกประมาณ ๖ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปทางโรงเรียนวัดบ้านกู่ ลักษณะเป็นปรางค์สมัยขอมขนาดเล็ก ฐานสี่เหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลงวางซ้อนกันจากฐานถึงยอด แต่ปัจจุบันสภาพปรักหักพังไปแล้ว หลงเหลือเพียงซากฐานไม่สูงนัก ภายในองค์ปรางค์มีพระพุทธรูปดินเผาซึ่งยังหลงเหลือให้เห็นอยู่ ๔-๕ องค์
| ประทาย ปราสาทนางรำ ตั้งอยู่ที่บ้านนางรำ ตำบลนางรำ ไปตามทางหลวงหมายเลข ๒ (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ประมาณ ๖๒ กิโลเมตร จนถึงแยกบ้านวัด เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๗ ไปประมาณ ๒๒ กิโลเมตรถึงบ้านหญ้าคา (หรือก่อนถึงตัวอำเภอประทาย ๑๑ กิโลเมตร) จากนั้นเลี้ยวซ้ายทางเข้าวัดปราสาทนางรำอีก ๔ กิโลเมตร ชื่อ ปราสาทนางรำ มาจากว่า เดิมเคยมีรูปนางรำ เป็นหินสีเขียวทำแบบเทวรูป อยู่ทางทิศตะวันตกของวิหารห่างไป ๑.๕ กิโลเมตร ปัจจุบันเหลือแต่ร่องรอยของเทวสถานและแท่นหิน ปราสาทนางรำเป็นโบราณสถานสมัยขอมที่เรียกว่าเป็น อโรคยาศาล (โรงพยาบาล)
|
|
ปักธงชัย วัดหน้าพระธาตุ (วัดตะคุ) ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลตะคุ การเดินทางจากตัวเมืองนครราชสีมาใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๑๔ ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร (ผ่านสี่แยกปักธงชัย) มีทางแยกด้านขวามือเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๒๒๓๘ ไปบ้านตะคุ ระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร วัดตั้งอยู่ทางซ้ายมือ วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้แก่ เจดีย์ อุโบสถ และหอไตรกลางน้ำที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี มีศิลปะแบบท้องถิ่นปะปนอยู่มาก อุโบสถหลังเก่ามีจิตรกรรมฝาผนังสมัยต้นรัตนโกสินทร์
ปรากฎให้เห็นอยู่เกือบสมบูรณ์ทั้งบริเวณผนังด้านหน้าข้างนอกและผนังด้านในทั้งสี่ด้าน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติชาดก และเป็นภาพการสักการะพระพุทธบาท นอกจากนั้นยังแทรกภาพชีวิตประจำวันของชาวบ้านในสมัยนั้นด้วยเช่น การทำนา การหาปลา เป็นต้น ทางด้านหน้าอุโบสถหลังเก่า มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่กลางสระมีหอไตร ๑ หลัง ทรงเตี้ยแบบหอไตรพื้นเมืองอีสานซึ่งมีภาพลายรดน้ำที่บานประตูเป็นลวดลายวิจิตรสวยงามมาก ระหว่างหอไตรและอุโบสถหลังเก่า ยังมีเจดีย์ศิลปะแบบลาวเก่าอีก ๑ องค์ สร้างโดยชุมชนที่อพยพมาจากนครเวียงจันทน์
| ปากช่อง อุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๒,๑๖๘ ตารางกิโลเมตรในเทือกเขาพนมดงรัก ครอบคลุมพื้นที่ ๔ จังหวัด คือ นครราชสีมา นครนายก สระบุรี และปราจีนบุรี ป่าเขาใหญ่สมัยก่อนได้รับสมญานามว่า ดงพญาไฟ ที่ทั้งโหดทั้งดิบสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางผ่านป่าผืนใหญ่ที่กั้นแบ่งเขตภาคกลางและภาคอีสาน จนกระทั่งเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๖๕ ได้มีชาวบ้านประมาณ ๓๐ ครัวเรือนไปตั้งหลักแหล่ง ถางป่าทำนาทำไร่ สันนิษฐานว่าเป็นพวกที่หลบหนีคดีมา ต่อมาพื้นที่เขาใหญ่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๕ และได้รับสมญาว่าเป็นอุทยานมรดกของอาเซียน
|
|
พิมาย อนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ บ้านสัมฤทธิ์ตะวันออก ต.สัมฤทธิ์ ห่างจากตัวเมือง ๔๖ กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๔๓-๔๔ แยกขวาเข้าไปประมาณ ๓ กิโลเมตร บริเวณที่โล่งกว้างนี้เคยเป็นสนามรบระหว่างชาวโคราชและทหารลาวเมื่อครั้งสงครามเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ปัจจุบันมีการสร้าง ศาลสถิตย์ดวงวิญญาณนางสาวบุญเหลือและวีรชน ซึ่งชาวบ้านสัมฤทธิ์ร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๕๓๑ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ดวงวิญญาณของนาวสาวบุญเหลือและวีรชนชาวโคราชที่ได้ทำการต่อสู้กับกองทัพลาวจนได้ชัยชนะ มีการจัดงานฉลองและรำลึกถึงวีรกรรมทุกปี ระหว่างวันที่ ๓-๕ มีนาคม
| วังน้ำเขียว สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช เป็นศูนย์วิจัยพันธุ์ไม้ในเขตป่าภาคอีสานและเปิดให้หมู่คณะที่สนใจมาจัดกิจกรรมทัศนศึกษาเชิงนิเวศ อยู่ริมเส้นทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ (นครราชสีมา-กบินทร์บุรี) ระยะทาง ๕๗ กิโลเมตรจากตัวเมือง มีพื้นที่ประมาณ ๗๘ ตารางกิโลเมตร (๔๘,๗๕๐ ไร่) สภาพพื้นที่เป็นป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง พบสัตว์ป่าหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นหมูป่า ไก่ป่า ไก่ฟ้าพระยาลอและนกต่าง ๆ หากได้มีโอกาสปีนขึ้นไปบนยอดหอคอยสูงเหนือระดับยอดไม้ที่ทางสถานีสร้างขึ้น จะมองเห็นผืนป่าเขียวขจีอันกว้างใหญ่รายล้อมอยู่รอบตัว ตลอดจนเห็นเขาแผงม้าที่อยู่ไกลออกไป อากาศที่นี่เย็นสบายตลอดปี มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติหลายเส้นทางซึ่งใช้เวลาตั้งแต่ ๑ ชั่วโมงครึ่ง ถึง ๓ ชั่วโมง มีบ้านพักไว้บริการจำนวน ๓ หลัง พักได้หลังละ ๒๐ คน สอบถามรายละเอียดโทร.๐ ๔๔๒๕ ๘๖๔๒ หรือ ติดต่อที่ฝ่ายจัดการสถานีวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ โทร ๐ ๒๕๗๙ ๑๑๒๑๓๐, ๐ ๒๕๗๙ ๐๑๖๐ ต่อ ๔๔๐๑ โทรสาร ๐ ๒๕๖๑ ๔๗๗๑
|
|
สถานที่พัก สถานที่พัก , เบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญ
| สีคิ้ว เขื่อนลำตะคอง ตั้งอยู่ตำบลลาดบัวขาว ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๖๒ กิโลเมตร มีทางแยกจากทางหลวงหมายเลข ๒ (นครราชสีมา-สระบุรี) บริเวณกิโลเมตรที่ ๑๙๖-๑๙๗ ประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นเขื่อนดินสร้างกั้นลำตะคองที่ช่องเขาเขื่อนลั่นและช่องเขาถ่านเสียดในปีพ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อนำน้ำเหนือเขื่อนมาใช้ประโยชน์ในด้านชลประทาน นักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวบนสันเขื่อนเพื่อชมทิวทัศน์ของอ่างเก็บน้ำซึ่งมีฉากหลังเป็นภูเขาสวยงามเหมาะสำหรับพักผ่อนในยามแดดร่มลมตก เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ ๑๘.๐๐ น
|
|
สีดา ปรางค์สีดา ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระปรางค์สีดา ตำบลสีดา จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ไปประมาณ ๘๔ กิโลเมตร ถึงบริเวณสี่แยกสีดาเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๒ (ไปทางอำเภอประทาย) ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าวัดอีกราว ๒ กิโลเมตร ปรางค์สีดามีลักษณะคล้ายปรางค์กู่ที่ตำบลดอนตะหนิน แต่ปรางค์สีดาปิดทึบทั้งสี่ด้าน เป็นโบราณสถานในศาสนาพราหมณ์ ศิลปะแบบเขมรโบราณ ก่อด้วยศิลาแลงจำนวน ๑ หลัง มีลวดลายปูนปั้นประดับหันหน้าไปทางทิศตะวันออกล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗๑๘
| สูงเนิน โบราณสถานเมืองเสมา ตั้งอยู่ที่ตำบลเสมา ห่างจากนครราชสีมาประมาณ ๓๗ กิโลเมตร จากตลาดอำเภอสูงเนิน เดินทางข้ามลำตะคองและผ่านบ้านหินตั้งไปจนถึงเมืองเสมาเป็นระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร แผนผังเมืองเสมาเป็นรูปไข่กว้าง ๓ กิโลเมตร ยาว ๔ กิโลเมตร ปัจจุบันยังเห็นร่องรอยคูเมืองและกำแพงดินล้อมรอบเป็นบางส่วน เมืองนี้เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี ตั้งขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และมีพัฒนาการสืบเนื่องมาถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมขอมโบราณ บริเวณเมืองเสมามีซากโบราณสถานก่อด้วยศิลาแลงและหินทรายหลงเหลืออยู่ มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ พระนอนหินทรายและธรรมจักรเก่าแก่ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบริเวณวัดธรรมจักรเสมาราม
|
|
อำเภอเมือง อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นอนุสรณ์แด่วีรกรรมอันกล้าหาญของวีรสตรีไทย หรือย่าโม ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันติดปากโดยทั่วไป สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ตั้งอยู่กลางเมือง ชาวต่างถิ่นที่แวะมาเยือนและชาวเมืองโคราชนิยมมาสักการะและขอพรจากย่าโมอยู่เสมอ อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง ๑.๘๕ เมตร หนัก ๓๒๕ กิโลกรัม แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน ในท่ายืน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนฐานไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองซึ่งบรรจุอัฐิของท่าน
| เลิงสาง หาดชมตะวัน อยู่ในความรับผิดชอบของที่ทำการเขตจัดการอุทยานแห่งชาติทับลานที่ ๔ (ลำปลายมาศ) ซึ่งดูแลรักษาพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติทับลานด้านอำเภอเลิงสาง อำเภอครบุรี และอำเภอวังน้ำเขียว พื้นที่ริมอ่างเก็บน้ำได้รับการพัฒนาให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนและเป็นที่ประกอบอาชีพของชาวบ้านลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า นักท่องเที่ยวนิยมมาเล่นน้ำและรับประทานอาหาร รวมทั้งยังชมทิวทัศน์อันสวยงาม หรือพักแค้มปิ้งได้ อาจเช่าเรือหางยาวล่องไปตามลำน้ำ เดินป่าชมแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น วังผีเสื้อ (มีเฉพาะในฤดูหนาว) ถ้ำพระ ถ้ำคอมมิวนิสต์ ที่มีตัวอักษรเขียนที่ผนังถ้ำว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และ ต้นตะเคียนทองยักษ์ ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณพันปี ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม โทร. ๐ ๔๔๔๔ ๘๓๘๖
|
|
โชคชัย หมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน อยู่ห่างจากตัวเมือง ๑๕ กิโลเมตร ตามทางหลวงสาย ๒๒๔ (นครราชสีมา-โชคชัย) ในสมัยโบราณตำบลนี้เป็นที่พักกองเกวียนที่ค้าขายระหว่างโคราช-เขมร มีแม่น้ำมูลไหลผ่าน ชาวบ้านใช้ดินริมฝั่งแม่น้ำมาปั้นภาชนะใช้สอย และได้ทำสืบต่อกันมานับเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน ปัจจุบันด่านเกวียนมีชื่อเสียงมากในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาได้สวยงาม มีรูปแบบที่แปลกและหลากหลาย แต่ยังคงลักษณะดั้งเดิมของกรรมวิธีในการปั้นและใช้ดินดำสัมฤทธิ์ที่มีเอกลักษณ์ของสีแบบดินเผาด่านเกวียนโดยเฉพาะ
| โนนสูง แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ บ้านปราสาทใต้ ตำบลธารปราสาท จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ (นครราชสีมา-ขอนแก่น ถึงกิโลเมตรที่ ๔๔ มีทางแยกซ้ายเข้าไปอีก ๑ กิโลเมตร หากเดินทางโดยรถประจำทางจากกรุงเทพฯหรือนครราชสีมา ให้นั่งรถสายที่จะไป ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย หรือ กาฬสินธุ์ ลงรถที่กม.๔๔ แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างจากปากทางเข้าหมู่บ้าน
|
|