|
ข้อมูลท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ในกลุ่มนี้ |
|
ข้อมูลทั่วไป เมืองตาก เป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง มีชื่อเดิมว่า เมืองระแหง ในอดีตเป็นเมืองที่มีชาวมอญอาศัยอยู่มาก่อน ดังมีหลักฐานศิลปะมอญปรากฏอยู่ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านตาก เมืองนี้สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็น ราชธานี ต่อมาเมื่อได้สถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว เมืองตากมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญด้านฝั่งตะวันตก และยังเป็นเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับพระมหาราชในอดีตถึง ๔ พระองค์ ที่เสด็จมาชุมนุมกองทัพ ณ ดินแดนเมืองตากแห่งนี้ ได้แก่ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายตัวเมืองตากจากฝั่งขวา ของแม่น้ำปิงมายังฝั่งซ้ายบริเวณตำบลบ้านระแหงจนกระทั่งทุกวันนี้
| ท่าสองยาง เป็นอำเภอชายแดนติดกับประเทศพม่า อยู่ติดลำน้ำเมย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาสูงตามแนวเทือกเขาถนนธงชัย ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพื้นราบ ประกอบอาชีพทำไร่ ระยะทางจากอำเภอแม่สอด-อำเภอท่าสองยาง ประมาณ 84 กิโลเมตร รวมระยะทางจากตัวอำเภอเมืองตากถึงอำเภอท่าสองยางประมาณ ๑๖๙ กิโลเมตร
|
|
บ้านตาก อำเภอบ้านตากเป็นเมืองตากเก่า มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญด้านตะวันตกของกรุงสุโขทัย จนในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุธยาได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองตากลงมาตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำปิง ตรงข้ามกับตัวเมืองตากในปัจจุบัน สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอบ้านตากส่วนใหญ่จึงเป็นโบราณสถาน อำเภอบ้านตากอยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปทางทิศเหนือราว ๒๒ กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๑ แต่หากเดินทางจากเส้นทางหลวงหมายเลข ๑๑๐๗ เลียบริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันตกถึงอำเภอบ้านตาก ระยะทาง ๒๕ กิโลเมตร
| พบพระ เป็นอำเภอที่มีชายแดนติดกับสหภาพพม่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดตาก การเดินทาง ใช้เส้นทางสายตาก-แม่สอด ทางหลวงหมายเลข ๑๐๕ ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ ๗๕ เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๐ ถึงกิโลเมตรที่ ๒๖ เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๒๐๖ ไปอีกประมาณ ๑๓ กิโลเมตร จึงถึงอำเภอพบพระ รวมระยะทางจากตัวจังหวัดประมาณ ๑๓๕ กิโลเมตร ก่อนที่กรมทางหลวงจะตัดถนนลาดยางสายแม่สอด-พบพระ (ทางหลวงหมายเลข ๑๒๐๖) นั้น การคมนาคมระหว่างสองอำเภอนี้ลำบากมากเพราะพื้นที่ของอำเภอพบพระเป็นพื้นที่ราบสูงระหว่างภูเขารับลมมรสุมจากอ่าวเมาะตะมะ ดังนั้นพื้นที่นี้จึงมีฝนตกชุกที่สุดในเขตภาคเหนือราว ๒,๓๐๐-๓,๐๐๐ มิลลิเมตร เส้นทางการคมนาคมจึงมีแต่โคลนตม ต้องเดินลุยโคลนกัน ชาวบ้านจึงเรียกว่า ขี้เปรอะเพอะพะ แปลว่า ขี้โคลนเปรอะเลอะเทอะ หมายความว่า ถ้าใครผ่านไปแถบนี้ขาแข้งจะมีแต่ขี้เปรอะเพอะพะ จึงเรียกบริเวณนี้ว่า บ้านเพอะพะ แล้วจึงเปลี่ยนเป็น พบพระ
|
|
สามเงา ผาสามเงา อยู่ในตำบลย่านรี จากอำเภอเมืองใช้เส้นทางหมายเลข ๑๑๐๗ ผ่านทางแยกไปเจดีย์ยุทธหัตถีประมาณ ๒๕ กิโลเมตร หรือถ้าใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ ถึงกิโลเมตรที่ ๔๖๓ จะมีทางแยกซ้ายเข้าเขื่อนภูมิพลไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ถึงอำเภอสามเงา จะมองเห็นเขาใหญ่ลูกหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า ผาสามเงา เพราะที่เชิงเขาริมหน้าผานั้นเจาะเป็นช่องลึกเข้าไปในเนื้อภูเขาเรียงกัน ๓ ช่อง ประดิษฐานพระพุทธรูปปิดทองช่องละองค์ มีบันไดไม้ต่อให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูปได้ ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าพระนางจามเทวีราชธิดาแห่งกรุงละโว้เป็นผู้สร้างเมื่อครั้งเดินทางตามลำน้ำแม่ปิงเพื่อขึ้นไปครองเมืองหริภุญไชย หรือลำพูน
| อำเภอเมือง ศาลหลักเมืองสี่มหาราช ตั้งอยู่เชิงสะพานกิตติขจร ก่อนเข้าตัวเมืองตาก จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมืองตากเป็นเมืองเก่ามีมาก่อนสมัยกรุงสุโขทัย เป็นเมืองที่มีพระมหาราชเจ้าในอดีตได้เสด็จมาชุมนุมกองทัพที่เมืองตากถึง ๔ พระองค์ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแกรง แล้วยกทัพกลับราชอาณาจักรไทย โดยเสด็จผ่านดินแดนเมืองตากเป็นแห่งแรก สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงนำทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ และได้สร้างวัดพระนารายณ์ ปัจจุบันอยู่ที่เชิงสะพานกิตติขจร และ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เคยได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองตากเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของอดีตมหาราช ทั้งสี่พระองค์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจังหวัดตาก จึงได้จัดสร้างศาลหลักเมืองสี่มหาราชขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕
|
|
อุ้มผาง อำเภออุ้มผาง อยู่ห่างจากจังหวัดตาก ๒๔๙ กิโลเมตร มีพื้นที่ ๒,๗๐๓,๓๖๒ ไร่ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในแปดอำเภอที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีชายแดนติดต่อกับสหภาพพม่า และเคยเป็นที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยงมาก่อน ต่อมาจึงมีคนไทยภาคเหนืออพยพเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น เดิมอุ้มผางเป็นเมืองหน้าด่านขึ้นอยู่กับจังหวัดอุทัยธานี เป็นจุดตรวจชาวพม่า ซึ่งเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้ประกาศให้ขึ้นกับจังหวัดตาก คำว่า อุ้มผาง เพื้ยนมาจากคำภาษากะเหรี่ยงว่า อุ้มผะ แปลว่า การแสดงหนังสือเดินทางของผู้เข้าออกไทย-พม่า
| แม่ระมาด เป็นอำเภอชายแดนที่ติดต่อกับสหภาพพม่าอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดตาก อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ๑๒๐ กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา สันนิษฐานว่าเดิมอำเภอแม่ระมาดเป็นชุมชนของชาวกะเหรี่ยง แต่ต่อมามีชาวไทยล้านนาอพยพมาอยู่เป็นจำนวนมากจนได้ยกฐานะเป็นอำเภอแม่ระมาด เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๔ การเดินทาง จากตัวจังหวัดตากใช้เส้นทางตาก-แม่สอด-แม่ระมาด หรือใช้เส้นทางตาก-บ้านตาก-แม่ระมาดก็ได้
|
|
แม่สอด อยู่ห่างจากอำเภอเมืองตาก ๘๖ กิโลเมตร ได้รับการจัดตั้งเป็นอำเภอมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๑ เดิมชื่อพระหน่อเก่ ตัวอำเภออยู่ในที่ราบระหว่างภูเขา ส่วนหนึ่งเป็นเทือกเขาในฝั่งประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งเป็นเทือกเขาฝั่งสหภาพพม่า อำเภอแม่สอดมีพื้นที่ประมาณ ๒,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร ประชากรมีทั้งชาวเขา และคนที่อพยพจากอำเภอเมืองเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ รวมทั้งชาวพม่าที่มีภรรยา และบุตรเป็นคนไทยด้วย
|