|
ข้อมูลท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ในกลุ่มนี้ |
|
ข้อมูลทั่วไป จังหวัดปทุมธานี เมืองน่าเที่ยวใกล้กรุงเทพฯที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารการกิน ธรรมชาติและชุมชนริมน้ำ วิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายมอญที่น่าสนใจ ปทุมธานี เดิมชื่อ เมืองสามโคก เป็นเมืองที่ตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อปี พ.ศ. 2358 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสามโคก ได้มีพสกนิกรจำนวนมากสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ นำดอกบัวหลวงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองใหม่เพื่อให้เป็นสิริมงคลว่า ประทุมธานี และต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนการสะกดนามจังหวัดเป็น ปทุมธานี
| คลองหลวง หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองห้า เป็นหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่สมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการรวบรวมเก็บรักษา จัดแสดง ให้บริการข้อมูล และอนุรักษ์เอกสารที่เกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระบรมวงศ์ ตลอดจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยแห่งการครองราชย์ของพระองค์ โดยดำเนินการจัดเก็บและอนุรักษ์อย่างเป็นระบบตามมาตรฐานจดหมายเหตุสากล นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้และเกิดความซาบซึ้งในพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน
|
|
ธัญบุรี วัดมูลจินดาราม ตั้งอยู่ริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ บริเวณคลองห้า อำเภอธัญบุรี ห่างจากถนนพหลโยธิน ไปตามเส้นทางถนนปทุมธานี-นครนายก ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร มีสิ่งที่น่าสนใจคือ ปลาสวายซึ่งได้เลี้ยงไว้ที่คลองรังสิตประยูรศักดิ์จำนวนมาก แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวและให้อาหารปลาอยู่เสมอ
| ลาดหลุมแก้ว วัดบัวขวัญ เป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอลาดหลุมแก้ว ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปทองสำริด ปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมกับพระพุทธรูปตามระเบียงวัดเบญจมบพิตร นอกจากนี้ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งจำลองมาจากวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีและพลับพลาที่ประทับแรกนาขวัญ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เรียกว่า "ศาลาแดง" เดิมตั้งอยู่ที่วังพญาไท ในกรุงเทพฯ นับเป็นพลับพลาที่สวยงามและทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่ง การเดินทางใช้เส้นทางสาย 341 ลาดหลุมแก้ว-ปทุมธานี เส้นทางเดียวกับวัดเจดีย์หอย เลี้ยวซ้ายที่หลักกิโลเมตรที่ 21-22 ที่ตั้งของวัดอยู่ห่างจากถนนใหญ่ประมาณ 5 กิโลเมตร
|
|
ลำลูกกา วัดพืชอุดม ตั้งอยู่ที่ตำบลลำไทร ในบริเวณวัดมีศาลารูปปั้นต่างๆ แสดงถึงนรกภูมิและสวรรค์ภูมิชั้นต่างๆ มีหลวงพ่อโสธรจำลองประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ การเดินทางสะดวกทั้งทางรถยนต์และทางเรือ ทางรถยนต์มีรถสองแถวรับจ้างวิ่งเข้าออกทั้งวันโดยใช้เส้นทางสายกรุงเทพฯ-มีนบุรี-หนองจอก-วัดพืชอุดมและทางเรือโดยลงเรือที่สะพานใหม่ดอนเมือง ใช้เวลาประมาณ 45 นาที
| สามโคก วัดสิงห์ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อกันว่าสร้างเมื่อครั้งที่ชาวมอญอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองนี้ ในบริเวณวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ควรค่าแก่การศึกษาในด้านประวัติศาสตร์และศิลปะ มีหลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทอง ปางสะดุ้งมาร สมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ บนกุฎิของวัดยังมีโบราณวัตถุที่เก็บรวมรวมไว้ เช่น แท่นบรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และอิฐมอญแบบเก่า การเข้าชมต้องขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดก่อน การเดินทางใช้ถนนสายปทุมธานี-สามโคก ประมาณ 3 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางเข้าวัดอยู่ขวามือ ผ่านอู่ต่อเรือ และวัดตำหนัก
|
|
อำเภอเมือง ศาลหลักเมือง เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าศาลากลางจังหวัด สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2520 เป็นศาลาแบบจตุรมุขด้านหน้าเป็นมณฑปประดิษฐานเสาหลักเมือง ลักษณะคล้ายก้านดอกบัวหลวงทำจากไม้ชัยพฤกษ์ และมีรูปหล่อพระนารายณ์สี่กรทรงเหนือหลังนกฮูกและพระวิษณุหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ด้านหลังของมณฑปบรรจุพระยอดธงวัดไก่เตี้ย อีกทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายประกอบด้วยเครื่องรางของขลังที่รวบรวมมาจากวัดต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานี
| เทศกาล และประเพณี เปิงสงกรานต์ เป็นประเพณีสงกรานต์ ของชาวไทยรามัญ (มอญ) มีการทำข้าวแช่โดยนำข้าวสุกแช่ลงในน้ำเย็นลอยดอกมะลิ พร้อมกับจัดอาหารคาว หวาน จัดเป็นสำรับแล้วนำออกขบวนแห่ไปถวายพระและญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือในวันสงกรานต์ พอตอนบ่ายก็จะมีการก่อพระทรายและร่วมปล่อยนกปล่อยปลา นำน้ำหอมไปสรงน้ำพระ ขอพรจากพระและยกขบวนไปรดน้ำอวยพรผู้ใหญ่ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้ยึดถือกระทำกันมา
|
|